การใช้กระบวนการนิเทศแบบ THUNGSONG MODEL ผสาน PDCA และ PLC
เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้
โรงเรียนทุ่งสงได้สร้างกระบวนการและรูปแบบการนิเทศภายในสถานศึกษา คือ การใช้กระบวนการนิเทศแบบ THUNGSONG MODEL ผสานผสาน PDCA และ PLC เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้
รูปแบบที่ใช้นิเทศ คือ THUNGSONG MODEL ผสาน PDCA และ PLC ดังนี้
1) T (Target) ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนิเทศ
2) H (Holistic Development) การพัฒนาองค์กรองค์รวมโดยใช้การนิเทศ
3) U (Understanding of supervision) การสร้างความเข้าใจในการนิเทศ
4) N (Near Relationship) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้นิเทศก์และผู้รับการนิเทศ
5) G (Good plan) แผนการนิเทศที่ดีเป็นไปตามเป้าหมาย
6) S (Steps by supervision plan) การนิเทศตามขั้นตอนของแผนที่วางไว้
7) O (Observation) การสังเกตชั้นเรียน /การทำงาน
8) N (Nice of supervision satisfaction) มีความพึงพอใจที่ดีต่อการนิเทศ
9) G (Guidance) การให้คำแนะนำเพื่อสะท้อนผลและการปรับปรุงพัฒนา
กระบวนการ/ขั้นตอนการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา
มีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นระบบ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนและออกแบบการนิเทศ (P-Planning)
1) ผู้บริหารสร้างการรับรู้ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การประชุมประจำเดือน กิจกรรม PLC ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ การประชุมฝ่ายงาน/กลุ่มงาน ฯลฯ เพื่อสร้างวิสัยทัศน์หรือสร้างเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินงาน
2) กำหนดแนวทาง/วิธีการการพัฒนาที่หลากหลายตามปัญหาที่เกิดขึ้น ตามความต้องการและจำเป็น มีการใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพครู (Professional) และการพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
3) เลือกแนวทาง/วิธีการในการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
4) ผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้างานนิเทศ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ ประชุมร่วมกันเพื่อตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการนิเทศ (T-Target)
5) ผู้บริหาร คณะครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ร่วมวางแผนในการดำเนินการนิเทศการจัดกระบวนการเรียนรู้ การดำเนินงาน/กิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ในการพัฒนาองค์กรองค์รวมโดยใช้การนิเทศ (H - Holistic Development)
6) สร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในรูปแบบการนิเทศว่าเป็นการนิเทศเพื่อการแนะนำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยแก้ปัญหาและให้กำลังใจกัน ร่วมคิดร่วมทำ บอกวิธีให้รู้ สาธิตให้ดูและช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่พบ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการนิเทศ (U - Understanding of supervision)
7) สร้างคณะกรรมการนิเทศ เป็นทีมงานในการนิเทศร่วมกัน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา และคณะครูในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้นิเทศก์และผู้รับการนิเทศ โดย ผู้นิเทศก์ได้สร้างความมีไมตรีและสมานจิตด้วยการพูดคุยพบปะกันหลายครั้ง เป็นกัลยาณมิตรโดยพูดโน้มน้าวให้ครูได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนิเทศการสอน/นิเทศงาน จนครูเกิดความไว้วางใจและยอมรับ ซึ่งกันและกัน (N-Near Relationship)
8) คณะกรรมการนิเทศร่วมกำหนดวิธีการนิเทศ กิจกรรมการนิเทศที่เหมาะสมตามสภาพปัญหาและความต้องการ โดยการ Coaching & Mentoring ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสังเกตชั้นเรียน การสาธิต การบันทึกวิดีโอการถ่ายภาพ การสัมภาษณ์ เป็นต้น และกำหนดแผนการนิเทศที่ดีและเป็นไปตามเป้าหมาย (G - Good plan)
9) งานนิเทศติดตามจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีการกำหนดวางแผนการนิเทศการศึกษาตามปฏิทินที่ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วยคำสั่งนิเทศการสอน คู่มือการนิเทศ ปฏิทิน การนิเทศ แบบบันทึกการเยี่ยมชั้นเรียน แบบนิเทศติดตามพฤติกรรมการจัดกิจกรรม และแบบประเมิน ความพึงพอใจของครูที่มีต่อการใช้กระบวนการนิเทศแบบ THUNGSONG MODEL ผสาน PDCA และ PLC เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 2 การปฏิบัติตามแผน (D-Do)
10) กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นิเทศก์ ผู้รับการนิเทศ ได้ศึกษาทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองให้ชัดเจนตามคู่มือและแบบบันทึกการนิเทศ
11) ดำเนินการนิเทศตามขั้นตอน ระยะเวลาและใช้เครื่องมือตามที่กำหนดไว้ในรูปแบบการนิเทศและตามแผนที่วางไว้ คณะกรรมการนิเทศ ประกอบด้วย ครูภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน และผู้บริหาร (S-Steps by supervision plan)
12) นิเทศภายในห้องเรียน 100% โดยคณะกรรมการนิเทศสังเกต (O-Observation) ในขณะที่ครูทำการจัดการเรียนการสอน/การทำงาน ครอบคลุมพฤติกรรมการสอนของครู พฤติกรรมการเรียนของนักเรียน และสภาพการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องเรียนโดยไม่เป็นการรบกวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู และจดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้น และสิ่งที่ควรปรับปรุงในการจัดกิจกรรมการเรียน การสอนของครูลงในแบบบันทึกการเยี่ยมชั้นเรียน แบบนิเทศติดตามพฤติกรรมการจัดกิจกรรม
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบ/ประเมินผล (C-Check)
13) หลังจากมีการนิเทศการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมจากแบบบันทึกการเยี่ยมชั้นเรียน แบบนิเทศติดตามพฤติกรรมการจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการ PLC ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง ผู้นิเทศก์และผู้รับการนิเทศร่วมกันให้ข้อมูลย้อนกลับ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นิเทศก์และผู้รับการนิเทศร่วมกันวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนเพื่อให้ผู้รับการนิเทศได้รับทราบพฤติกรรมการสอน การจัดกิจกรรมและสามารถบอกข้อดีและจุดที่ควรปรับปรุงในการสอนของตนเองได้
14) ผู้นิเทศก์และผู้รับการนิเทศประเมินความพึงพอใจต่อการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษาโดยการใช้กระบวนการนิเทศแบบ THUNGSONG MODEL ผสาน PDCA และ PLC เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ และสร้างความพึงพอใจที่ดีต่อการนิเทศ (N -Nice of supervision satisfaction)
ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงแก้ไข (A-Act)
15) ผู้นิเทศก์กับผู้รับการนิเทศใช้กระบวนการ PLC เพื่อนำปัญหาจากการจัดการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน แล้วนำแนวทางการแก้ปัญหาไปจัดการเรียนการสอนในการหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ดีและเป็นเลิศ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยอยู่ในรูปแบบการให้คำแนะนำ เพื่อสะท้อนผลและการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการนิเทศการสอนซ้ำเป็นรอบที่สอง เพื่อให้เกิดทักษะและกระบวนการที่ดีขึ้น (G-Guidance)